ประวัติตำบลไค้นุ่น
ในอดีตกาลมี 3 พรานเดินทางมาล่าเนื้อ ซึ่งแต่ละคนนั้นเดินทางมาจากคนละจังหวัด โดยมิได้นัดหมาย นายพรานทั้ง 3 คนนั้นได้แก่ พรานอะไหล มาจากไค้นุ่นเวียงจันทร์ พรานเดชมาจากอุบลราชธานี และพรานราชมุม มาจากหนองน้ำขุ่นเมืองยโสธร เมื่อทั้ง 3 ได้พูดคุยกัน จึงมีความเห็นตรงกันว่าพื้นที่นี้เหมาะแก่การตั้งบ้านเรือน เนื่องจากเป็นที่ลุ่มอุดมสมบูรณ์จึงพากันกลับไปอพยพลูกหลานมาตั้งเป็นหมู่บ้าน โดยใช้ชื่อว่า บ้านไค้นุ่นหรือบ้านหนองไค้นุ่น เพราะว่ามีต้นไค้นุ่นเกิดเรียงรายอยู่มากมาย และตั้งให้พรานลาดมุม เป็นผู้นำหมู่บ้าน อยู่ต่อมามีพระสงฆ์ 1 รูป ชื่อหลวงปู่ศรีธรรม เดินทางมาจากไค้นุ่นเวียงจันทร์ มาเยี่ยมลูกหลานที่อพยพมาอยู่ที่บ้านไค้นุ่น ซึ่งต่อมาท่านก็ได้ร่วมกับชาวบ้าน ลูกหลาน สร้างวัดขึ้น ชื่อวัดไค้นุ่น ปัจจุบันคือวัดปิยะมงคล โดยที่ชาวบ้านได้ขอให้หลวงปู่ศรีธรรมเป็นเจ้าอาวาส หลายปีต่อมาบ้านไค้นุ่นมีผู้นำหมู่บ้านคนใหม่ ชื่อผู้ใหญ่โสมท่านได้แยกหมู่บ้านออกเป็น 2 คุ้ม คือ คุ้มไค้นุ่นเก่า และคุ้มไค้นุ่นคำไฮ เมื่อหมู่บ้านเจริญขึ้นทางราชการจึงยกฐานะให้หมู่บ้านไค้นุ่นเป็นตำบลไค้นุ่น ขึ้นตรงต่อเมืองภูแล่นช้าง จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งขณะนั้นตำบลไค้นุ่น มีนายธรรมกษร เป็นกำนันคนแรก อยู่ต่อมาเมืองภูแล่นช้างถูกลดฐานะเป็นตำบล เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายค่าหัวเมือง ตำบลไค้นุ่นจึงถูกลดฐานะให้เป็นหมู่บ้านตามเดิม ซึ่งในระหว่างนี้มีผู้ใหญ่บุญมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน ขึ้นกับตำบลภูแล่นช้าง ซึ่งมี นายขุนคต สนาวัน เป็นกำนัน
ต่อมาปี พ.ศ. 2455 บ้านไค้นุ่นได้มีผู้นำคนใหม่ คือผู้ใหญ่วงจักร์ มองเพชร ท่านได้พาชาวบ้านจากคุ้มไค้นุ่นคำไฮ กลับเข้ามารวมกับคุ้มไค้นุ่นเก่า เนื่องจากชาวบ้านล้มป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้บ้านไค้นุ่นมีเพียงคุ้มเดียว และท่านได้ไปขอแบ่งหลักบ้านจากเมืองภูแล่นช้าง มาไว้สักการะ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยนำมาไว้ที่ต้นขามใหญ่ที่ดินของพ่อใหญ่สิงห์ ระบาเลิศ ต่อมาได้ย้ายไปไว้
ที่ดอนเจ้าปู่จนถึงปัจจุบัน เจ้าปู่ไค้นุ่นคือท่านอุปราดจนเมื่อทางราชการให้ตัดถนนจากอำเภอสมเด็จผ่านบ้านไค้นุ่นไปยังอำเภอกุฉินารายณ์ ชาวบ้านจึงย้ายบ้านเรือนออกมาตามแนวถนนและแยกเป็นคุ้ม ๆ ได้แก่ คุ้มโนนจันทร์ ปัจจุบันคือ บ้านไค้นุ่น หมู่ 2 คุ้มกากซาก (ปัจจุบันคือ บ้านไค้นุ่น หมู่ 11) คุ้มโนนขี้แร้ง (ปัจจุบันคือ คุ้มโรงเรียนและ อบต.เก่า) คุ้มโสกโนนขาวและต้นทุ่ม (ปัจจุบัน คือ บ้านไค้นุ่น หมู่ 8) โดยมีคุ้มไค้นุ่นเก่า (ปัจจุบันคือ บ้านไค้นุ่น หมู่ 2 , 12) เป็นศูนย์รวม
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2461 ผู้ใหญ่วรจักร์ มองเพชร ได้เล็งเห็นความสำคัญด้าน
การศึกษาจึงร่วมกับชาวบ้านได้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้น โดยมีนายประเวก อุธรขันธ์ นายอำเภอกุฉินารายณ์คนแรก เดินทางมาเป็นประธานเปิดและตั้งชื่อให้ว่า โรงเรียนไค้นุ่นวิทยาพูนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยมอบหมายให้ นายแว่น มองเพชร ซึ่งเป็นอดีตเสมียนตราจังหวัดร้อยเอ็ด /มหาสารคาม และเป็นบุตรของผู้ใหญ่วรจักร์ ทำหน้าที่เป็นครูใหญ่และครูผู้สอนคนแรกในโรงเรียน และให้นายบุ พลนาดี เป็นนักการภารโรง จนต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2480 ครูใหญ่แว่น ได้ร่วมกับชาวบ้าน สร้างวัดเล็กๆ ขึ้น ในที่ดินว่างเปล่าซึ่งตรงข้ามกับโรงเรียนไค้นุ่นวิทยาพูน ชื่อวัดประจำไค้นุ่นใต้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2490 ทางราชการได้แยกบ้านไค้นุ่นเป็น 2 หมู่ โดยให้ขึ้นกับตำบลคำบง ซึ่งในสมัยนั้น มีนายบุญมี ระบาเลิศ เป็นกำนัน ตำบลคำบง หมู่บ้านไค้นุ่นที่แยกเป็น 2 หมู่บ้าน ได้แก่
1. ไค้นุ่น หมู่ที่ 8 ตำบลคำบง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีผู้ทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านเรียงตามลำดับ ดังนี้ นายถาวร ศรีชมภู,นายสด มองเพชร,นายโชติ ญาณยิต,นายหวีด มะลิต้น ซึ่งในสมัย นายหวีด มะลิต้น เป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้ร่วมกับกำนันขว่าง ครุฑวงษ์ ในสมัยนั้น ขอแยกหมู่บ้านจากบ้าน หมู่ 8 เพิ่มขึ้นอีกได้แก่
1) บ้านไค้นุ่น หมู่ที่ 2 มีผู้ใหญ่บ้านเรียงตามลำดับ ดังนี้ นายราศรี ศรีภูมิรัตน์ ,
นายบุญมี พิลาวรรณ
2) บ้านไค้นุ่น หมู่ที่ 12 มีผู้ใหญ่บ้านเรียงตามลำดับ ดังนี้ คือ นายเนียง วารีบ่อ , นายนวลจันทร์ ศรีภูมิรัตน์
3) บ้านไค้นุ่น หมู่ที่ 8 ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากเดิมมาอยู่ที่คุ้มหนองทุ่ม มีผู้ใหญ่บ้านเรียงตามลำดับ ดังนี้ คือ นายเอี่ยม โพธิ์พิฑูรย์ , นายแสนพันธุ์ ชิณศิริ , นายสุทัศน์ วรรณทอง ,นายประเสริฐ ปากแข็ง , นายนิรุตท์ ฤทธิ์คุณ และนายประทวน ชิณศิริ
2.บ้านโนนจันทร์ หมู่ที่ 14 ตำบลคำบง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมี
นายแว่น มองพชร อดีตครูใหญ่โรงเรียนไค้นุ่น เป็นผู้นำหมู่บ้านคนแรก ต่อมาผู้ใหญ่แว่นได้ลาศึกษาต่อ นายกองมา สมศิริ จึงได้ขึ้นเป็นผู้นำหมู่บ้านแทน จนหลังจากนายแว่นเรียนจบก็ได้กลับมาเป็นผู้นำหมู่บ้านแทน นายกองมา อีกครั้งหนึ่งจนเมื่อปี พ.ศ.2502 ได้มีผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ คือ นายขว่าง ครุฑวงษ์ ซึ่งใน พ.ศ. 2504 ผู้ใหญ่ขว่าง ได้ร่วมกับชาวบ้านพัฒนาถนนหนทาง ซึ่งเดิมนั้นเป็นทางล้อเกวียน จนสามารถเดินทางไปมาได้สะดวก ในหลายๆ เส้นทาง รวมทั้ง เมื่อปี พ.ศ.2507 ได้ขอตั้งสถานีอนามัยบ้านไค้นุ่นขึ้น บริเวณวัดประจำไค้นุ่นใต้ ซึ่งยังมีที่ว่างเปล่าเหลืออยู่ เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพพลานามัยของชาวบ้าน อยู่ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2510 ที่ป่าช้าบ้านไค้นุ่น มีพระสงฆ์สามเณร เข้าไปนั่งวิปัสสนากรรมฐาน จนเกิดวัดเล็ก ขึ้นในป่าช้า ผู้ใหญ่ขว่าง จึงได้พาชาวบ้าน อยู่ห่างไกลหมู่บ้าน ผู้ใหญ่ขว่าง จึงพา
ชาวบ้านย้ายมาสร้างวัดขึ้นใหม่ในหมู่บ้าน คือ วัดสามัคคีสุทธาวาส หรือวัดสุทธาวาสไค้นุ่นใต้ ในปัจจุบัน โดยได้นิมนต์หลวงปู่สิงห์ ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2514 ทางราชการ ได้ยกฐานะบ้านไค้นุ่นเป็นตำบลไค้นุ่น อีกครั้ง โดยให้ขึ้นกับอำเภอกุฉินารายณ์ ซึ่งในสมัยนั้น มีนายสมัย จรัสแผ้ว , นายสวัสดิ์ จันทะวัติ เป็นกำนันตามลำดับ จนมาถึงเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2521 ผู้ใหญ่ขว่าง ครุฑวงษ์ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นกำนันของตำบลไค้นุ่น จึงมีการเปลี่ยนแปลงหมู่บ้าน จากบ้านโนนจันทร์ หมู่ที่ 14 ตำบลคำบง มาเป็นบ้านไค้นุ่น หมู่ที่ 1 ตำบลไค้นุ่น ซึ่งในระหว่างนี้ คือ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2524 ทางราชการได้ตั้งกิ่งอำเภอห้วยผึ้ง ตำบลไค้นุ่น จึงขึ้นกับกิ่งอำเภอห้วยผึ้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 นายนิยม ศรีไค้นุ่น ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านไค้นุ่น หมู่ 1 และเป็นกำนันตำบลไค้นุ่น ซึ่งในนี้นั้นกำนันนิยม ศรีไค้นุ่น ได้ขอแยกหมู่บ้านเพิ่มขึ้นอีกคือ บ้านไค้นุ่น หมู่ที่ 11 โดยมีนายสุกรรณ ใจไว , นายอุดม วารีพิณ เป็นผู้ใหญ่บ้านตามลำดับ พร้อมทั้งกิ่งอำเภอห้วยผึ้งก็ได้ยกฐานะเป็นอำเภอห้วยผึ้ง เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2533 บ้านไค้นุ่นทุกหมู่บ้านจึงขึ้นกับอำเภอห้วยผึ้ง และต่อมาทางราชการ ได้ตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลไค้นุ่นขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2539
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2545 นายสมคิด ภูมิหวา ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 และได้รับเลือกตั้งเป็นกำนันตำบลไค้นุ่น ในปีเดียวกัน ซึ่งในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนั้น กำนันสมคิด ภูมิหวา ได้ร่วมกับชาวบ้านบูรณะซ่อมแซมหอประชุมหมู่บ้าน สร้างรั้วและพัฒนาปรับปรุงดอนเจ้าปู่ไค้นุ่น ร่วมกับชาวบ้าน สร้างเมรุที่วัดป่ามุจรินทร์ รวมทั้งสร้างเสริมสิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์มากมาย จนเป็นที่ประจักษ์
ปัจจุบันชุมชนของชาวบ้านไค้นุ่น ได้แยกกระจายอยู่ในพื้นที่รวม 13 หมู่บ้าน จนได้รับ
การจัดตั้งเป็นตำบลไค้นุ่นในอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ประกาศกำหนดยกฐานะให้สภาตำบลไค้นุ่น เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลไค้นุ่น ในที่ 16 ธันวาคม 2539 และมีผลได้รับการยกฐานะเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540